พระประธานองค์นี้(ในโบสถ์) เป็นพระพุทธรูปที่ มีอายุเก่าแก่ กว่า 160 ปี เป็นพระปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 60 นิ้ว สูง 49 นิ้ว เนื้อปูนปั้น ไม่ปรากฏปีที่สร้างและผู้สร้าง เป็นพระที่อยู่คู่มากับวัดและคู่มากับโบสถ์ถึง 2 โบสถ์แล้ว พระพุทธรูปองค์นี้ได้เคยประดิษฐานที่โบสถ์หลังเก่า ต่อมาได้รื้อโบสถ์หลังเก่า เพราะทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และได้สร้างหลังใหม่ขึ้นมาแทนที่ พร้อมกันนี้ได้ย้ายพระประธานมาประดิษฐานในโบสถ์หลังใหม่จนถึงปัจจุบัน พร้อมพระพุทธรูปยุคสมัยต่างๆ มาประดิษฐานไว้ด้านในโบสถ์ เพื่อเป็นที่กราบไหว้เคารพบูชาสำหรับพระสงฆ์และประชาชนทั่วไป
พระนอนขนาดความยาว ๙ เมตร เป็นพระโบราณ มีอายุ กว่า ๑๖๐ ปี ตามประวัติ บรรพบุรุษชาวมอญที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในยุคแรกเป็นผู้ริเริ่ม โดยผู้ดำเนินการก่อสร้าง คือ ร.ต.อ.ยวง (ต่อมาได้เลื่อนยศเป็น พ.ต.อ.พระยาประสงค์ เอกนาค) พร้อมด้วยญาติ ๆ ได้ให้ช่างประจำหมู่บ้านดำเนินการออกแบบ เป็นพุทธศิลป์ ลักษณะพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ (พระนอน) เนื้อปูนปั้น คอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นพระพุทธรูปมีครึ่งองค์ ปั้นติดกับกำแพงวัด เมื่อปั้นองค์พระเสร็จแล้ว ผู้สร้างได้ทำอักษรไขว้คำว่า “ยวง” ไว้ที่หน้าจั่วด้านนอกอาคาร ด้านทิศตะวันออก เพื่อให้คนทั่วไปได้ทราบ
แต่เดิม พระนอน องค์นี้ได้สร้างขึ้นมาตรงบริเวณนี้พร้อมกับโบสถ์หลังเก่า ซึ่งทรุดโทรมลงตามอายุขัย แต่พระนอนยังมีสภาพที่แข็งแรงปรากฎอยู่ จึงได้สร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้นมา คือโบสถ์หลังปัจจุบันนี้ ตัวองค์พระนอนถูกดินค่อยๆ ทับถมไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา จนดินได้ฝังองค์พระนอนไปถึงครึ่งองค์ เป็นเวลาเกือบ ๑๐๐ ปี กระทั่งปี พ.ศ.๒๕๕๕ ท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ร่วมกับชาวบ้านมอญ และกรมศิลปากร ได้ทำการบูรณะครั้งสำคัญ โดยทำการยกองค์พระนอน ขึ้นสูงจากพื้น ๑.๘๐ เมตร และเนื่องจากองค์พระติดดกับกำเพงเป็นเนื้อเดียวกัน จึงได้ทำการยกองค์พระและกำแพงขึ้นพร้อมกัน
เจดีย์คู่ทรงมอญ นี้ บรรพบุรุษของ ตาตุ๊และยายเจี๊ยบเป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อให้มีสัญญลักษณ์เป็นของมอญโดยสมบูรณ์ ในปี พ.ศ.2500 ลุงจี๊ด ลูกชายตาตุ๊ และยายเจี๊ยบได้มาบูรณะซ่อมแซมเจดีย์คู่นี้ ครั้งที่ 1 เนื่องจากมีความเห็นว่า เจดีย์คู่นี้เป็นโบราณสถานที่บรรพบุรุษของตนได้สร้างเอาไว้นานแล้ว และได้ชำรุดทรุดโทรมพอสมควรจึงได้ทำการบูรณะให้งดงาม มีความคงทนถาวรจนทุกวันนี้
ตามประวัติช่องทางระหว่างเจดีย์คู่นี้ เดิมเป็นถนน ประชาชนทั่วไปจะใช้ช่องทางระหว่างเจดีย์คู่นี้เป็นทางเดินผ่าน เพื่อไปยังตลาดเจริญพาศน์ เนื่องจากเมื่อก่อนยังไม่มีโรงเรียนวัดประดิษฐารามมาสร้าง รอบวัดจึงยังเป็นคลองล้อมรอบ มีป่ารกรุงรัง และเป็นป่าช้าเก่า (ข้อมูลจาก พล.ท.ธีระเดช มุ่งทางธรรม จากหนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูประดิษฐ์วรวัฒน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดประดิษฐาราม พ.ศ.2543)
บูรณะครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2563 ทางวัดได้ทำการบูรณะเจดีย์ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อต่อยอด สถานที่บริเวณเจดีย์คู่นี้ จัดให้มีภูมิทัศน์ที่ร่มรื่นเป็นลานธรรม ประดิษฐานพระพุทธรูปเนื้อหินทราย และปั้นรูปปติมากรรมที่กำแพง เพื่อน้อมรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ เป็นพุทธบูชาคือ วันประสูติ วันตรัสรู้ วันปฐมเทศนา และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไป
เป็นวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสมเเด็จองค์ปฐม หรือพระพุทธสิกขีทศพลที่ 1 อันเป็นพระพุทธเจ้าองค์แรกที่ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ถือเป็นประธานของพระพุทธเจ้าทั้งปวง ทั้งนี้ยังมีรูปจำลองของหลวงปู่โต เจ้าอาวาสวัดประดิษฐารามองค์แรก อันเป็นที่เคารพรักของชาวชุมชนวัดมอญ รวมไปถึงรูปจำลองหลวงปู่ทวด และสมเด็จโต พรหมรังสีด้วย
ท้าวเวสสุวรรณ ทั้ง 2 ตนนี้ ได้มาตั้งอยู่ที่วัดประดิษฐาราม และจัดพิธีบวงสรวงในวันที่ 15 พฤษภาคม และ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ตามลำดับ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนทั้งในชุมชนและระแวกใกล้เคียง โดยมีความเชื่อว่าการบูชาท้าวเวสสุวรรณนั้นจะเพิ่มโชคลาภ ทําให้มีกินมีใช้ไม่ขาดมือ ทำให้มีผู้คนมากราบไหว้และถวายเครื่องสักการะกันเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์ประจำวัดประดิษฐารามแห่งนี้
บริเวณศาลารายด้านหลังอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระพี่น้อง 5 องค์ อันได้แก่
1. หลวงพ่อโสธร
2. หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา
3. หลวงพ่อวัดบ้านแหลม
4. หลวงพ่อวัดไร่ขิง
5.หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน
ตามตำนานระบุว่า พระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ ต่างก็ลอยน้ำมาตามแม่น้ำสายหลักของภาคกลางทั้ง 5 สาย และมีชาวบ้านมาพบเจอจึงได้นำพระพุทธรูปเหล่านั้นขึ้นฝั่งและนำไปประดิษฐานไว้ตามวัดใกล้เคียงกับจุดที่ชะลอองค์พระขึ้นจากแม่น้ำ