วัดประดิษฐาราม อ้างตามเอกสารหลักฐานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สร้างเมื่อ พ.ศ.2293 เดิม ชื่อว่า วัดบ้านสวน เนื่องจาก ชาวมอญได้มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่รอบๆ บริเวณวัดเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา และได้ร่วมกันบูรณะสร้างวัดขึ้นมาจึงได้เรียกชื่อ "วัดมอญ" ตามกลุ่มคนสร้าง ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นชื่อ "วัดรามัญประดิษฐ์"
จนถึงสมัยนายกรัฐมนตรีไทยในยุคนั้น ชื่อว่า จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม(เป็นนายกรัฐมนตรีช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2485-2489) ได้มีคำสั่งปรับปรุงชื่อสถานที่ต่างๆ ออกคำสั่งให้แต่ละสถานที่ต้องไม่มีภาษาต่างชาติเข้ามาผสมด้วย ให้เป็นชื่อภาษาไทยทั้งหมด วัดรามัญประดิษฐาราม ได้รับผลคำสั่งนั้นด้วย จึงได้ตัดคำว่า "รามัญ "ออก เพราะเป็นภาษาต่างชาติที่บอกเป็นชาวรามัญหรือชาวมอญ คงไว้แต่ชื่อ "วัดประดิษฐาราม" ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ชาวบ้านยังเรียกว่า วัดมอญ อยู่
ได้รับพระราชทานวิงสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2521 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอนที่ 23 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2521 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร เป็นวัดสังกัด มหานิกาย หลักฐานต่างๆ ที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านมอญ ที่สร้างเอาไว้ ยังปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ ได้แก่
1. พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 160 ปี ในบริเวณกำแพงแก้วโบสถ์
2. เจดีย์คู่ทรงมอญ ที่มีอายุ เก่าแก่กว่า 160 ปี อยู่ที่ตรงประตูทางออกวัด
3. พระประธานในอุโบสถ มีอายุเก่าแก่กว่า 160 ปี
4. เสาหงส์ มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี อยู่ที่ท่าน้ำ หลังโรงเรียนวัดประดิษฐาราม
วัดประดิษฐาราม ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะที่ยังเป็น "วัดบ้านสวน" ครั้งในอดีตที่ผ่านมาก่อนที่จะถึงการปกครองสมัยเป็นวัดมอญนั้น สืบคนประวัติของเจ้าอาวาสไม่ได้เลยเพราะเป็นระยะเวลาถึงร้อยปีมาแล้ว จากการสอบถามผู้สูงอายุในชุมชนวัดประดิษฐารามที่มีอายุร่วม 100 ปี และหลักฐานประวัติวัดของกรมศาสนา ก็สามารถรวบรวมข้อมูลเจ้าอาวาสปกครองได้ 7 รูปด้วยกัน
1. หลวงปู่โต เป็นเจ้าอาวาสองค์ปฐม
2. รูปที่ 2 ชื่อว่า หลวงปู่จันทร์
3. รูปที่ 3 ชื่อว่า หลวงปู่สี
4. รูปที่ 4. ชื่อว่าพระอธิการช้อย อุคฺคเสโน
5. รูปที่ 5 ชื่อว่า พระครูประดิษฐ์กัลยาณคุณ (หลวงปู่สมุห์สุวัฒน์ โพธิ์ไทย)
6. รูปที่ 6 ชื่อว่า พระครูประดิษฐ์วรวัฒน์ (หลวงปู่ปาลิต ปาลิโต)
7. รูปปัจจุบัน ชื่อว่า พระครูปริยัติวรานุสิฐ (พ.ม.ชาลี ปญฺญาวโร)
เรื่องเกี่ยวกับหลวงปู่โต เจ้าอาวาสมอญองค์แรกนั้น มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระสังฆเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กับเจ้าคุณทักษิณคณิสสร มาตรวจการตามวัดโดยทางเรือ เมื่อผ่านถึงหน้าวัดประดิษฐาราม ปรากฏว่าหลวงปู่โต ไม่ลงมาสวดชะยันโต และไม่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาต้อนรับ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงเสด็จขึ้นบกเดินมาถึงบริเวณพระเจดีย์คู่ ซึ่งยังอยู่ในปัจจุบันนี้ ถามชาวบ้านว่าท่านเจ้าอาวาสพรรษามากเท่าใด ชาวบ้านบอกว่า ท่านบวชตั้งแต่เป็นสามเณร จึงโปรดให้เจ้าคุณทักษิณคณิสสร นำเอาพระไตรแพรขึ้นไปถวายหลวงปู่โต และแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย นอกจากนั้น จะตั้งให้เป็นตำแหน่งอะไรอีก หลวงปู่โตก็ไม่ยอมรับ หลวงปู่โตท่านมักจะถือตาลปัตรลักษณะพิสดาร คือเป็นตาลปัตรสานด้วยไม้ไผ่